HM: Research Reports

Permanent URI for this collection

Browse

Recent Submissions

Now showing 1 - 5 of 22
  • Publication
    เรื่องเล่าในบทธรรมเทศนาของพระไพศาล วิสาโล = The Narratives in Sermons of Pra Paisal Wisalo
    งานวิจัยเรื่อง “เรื่องเล่าในบทธรรมเทศนาของพระไพศาล วิสาโล” เกิดจากการผู้วิจัยได้รับฟังบทธรรมเทศนาของพระไพศาล วิสาโล ที่เผยแพร่ในสื่อออนไลน์ต่างๆโดยเฉพาะช่องยูทูบ ผู้วิจัยมีข้อสังเกตว่าพระไพศาล วิสาโล มักนำเรื่องราวต่างๆมาประกอบการเทศน์อยู่เสมอจนอาจกล่าวได้ว่าเป็นวิธีการเทศน์ของท่าน ผู้วิจัยจึงรวบรวมบทธรรมเทศนาเฉพาะตอนที่ปรากฏเรื่องเล่าทำให้พบว่ามีเรื่องเล่าหลายประเภทที่ประกฏในบทธรรมเทศนา อีกทั้งเรื่องเล่ายังปรากฏในส่วนต่างๆ ของบท ตลอดจนทำหน้าที่แตกต่างกัน จึงได้ศึกษาวิเคราะห์และปรากฏผลการศึกษาวิเคราะห์ดังนี้ ผลการศึกษาพบว่า บทธรรมเทศนาของพระไพศาล วิสาโล มีจุดมุ่งหมายของการเทศน์แบ่งออกเป็น 4 จุดมุ่งหมาย ได้แก่ 1 เรื่องที่มุ่งให้ผู้ปฏิบัติธรรมปฏิบัติตน 2 เรื่องที่มุ่งเน้นเรื่องการสร้างสภาวะสมดุลทางใจ 3 เรื่องที่มุ่งเน้นในการเข้าสังคมและการอยู่ร่วมกับผู้อื่น 4 เรื่องประเภทสุดท้ายคือเรื่องเกี่ยวกับวัฏสงสาร นอกจากนี้ยังพบว่าโครงสร้างบทธรรมเทศนาของพระไพศาล วิสาโล ประกอบด้วยส่วนต่างๆ 3 ส่วน คือ ส่วนต้น ส่วนเนื้อหา และส่วนสรุป โดยแต่ละส่วนมีรายละเอียดเนื้อหาแตกต่างกัน เนื้อหาในส่วนต้นมี 3 แบบ ได้แก่ ก) ส่วนต้นที่เล่าเรื่องต่างๆเพื่อนำเข้าสู่เนื้อหา ข) ส่วนต้นที่ใช้หลักธรรมในการนำเข้าสู่เนื้อหา และ ค) ส่วนต้นที่ใช้การพรรณนาความสำคัญเพื่อนำเข้าสู่เนื้อหาในส่วนเนื้อหา พบว่ามี 2 แบบ ได้แก่ ก) ส่วนเนื้อหาที่สาธยายหลักธรรม ข) ส่วนเนื้อหาที่เล่าเรื่องราว ส่วนท้ายขแบ่งออกเป็น ก) เนื้อหาสรุปความคิด ข) บทสรุปแบบเรื่องเล่า และ ค) ส่วนท้ายแบบแนะนำ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเรื่องเล่าปรากฏอยู่ในทุกส่วนของบทธรรมเทศนา โดยเรื่องเล่าแต่ละเรื่องที่ปรากฏในส่วนต่างๆทำหน้าที่ 2 ประการ คือ 1 เรื่องเล่าทำหน้าที่นำเข้าสู่หัวข้อธรรมะ และ 2 เรื่องเล่าเป็นตัวอย่างประกอบหลักธรรม อย่างไรก็ตาม การคัดสรรเรื่องเล่ามาประกอบการเทศน์นั้นเป็นเรื่องเล่าที่แตกต่างกัน 6 ประเภท ได้แก่ ก) เรื่องเล่าของบุคคลทั่วไปที่ไม่ระบุตัวตนได้ข) พุทธประวัติ พุทธสาวก และ ประวัติพระภิกษุในปัจจุบัน ค) เรื่องของลูกศิษย์ หรือบุคคลที่เป็นที่รู้จักในสังคม ง) เรื่องสมมติ เช่น นิทาน เรื่องเล่าจากลิทธิเซน จ) เรื่องในประวัติศาสตร์ ฉ) เรื่องของคนที่พระไพศาล วิสาโล รู้จักหรือญาติโยมที่ท่านคุ้นเคย ทั้งนี้เรื่องที่มาเล่าประกอบด้วยความขัดแย้งที่ตัวละครต้องประสบ 3 แบบ คือ 1 ความขัดแย้งภายในจิตใจของตัวละคร สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทย่อย ได้แก่ 1) ตัวละครประสบความสำเร็จในชีวิต แต่ไม่พบความสุขที่แท้จริง 2) ตัวละครต้องพบความทุกข์ทางใจที่หาทางออกไม่ได้ 2 ความขัดแย้งกับกฎเกณฑ์ในสังคม และ 3 ตัวละครขัดแย้งกับธรรมชาติ เช่น ความทุพลภาพ ความชรา เป็นต้น ซึ่งพระไพศาล วิสาโล ได้ชี้ให้เห็นว่าธรรมะคือทางของของความขัดแย้งต่างๆเหล่านี้
      81  589
  • Publication
    เจ้าพ่อหมื่นราม : สิ่งศักดิ์สิทธิ์ไทยสู่คติความเชื่อเทพเจ้าจีน
    (University of the Thai Chamber of Commerce, 2022)
    การวิจัยนี้มุ่งศึกษาประวัติความเป็นมา ความหลากหลายทางประติมานวิทยา และกระบวนการทำให้เจ้าพ่อหมื่นราม จากเทพารักษ์ไทยกลายเป็นเทพเจ้าจีน เจ้าพ่อหมื่นราม ตำแหน่งยศ “หมื่นราม” สังกัด “กองกระบือ” ซึ่งขึ้นตรงต่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติในสมัยรัชกาลที่ 4 หลังเสียชีวิตชาวบ้านในพื้นที่บ้านนาเริ่ง อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ยกย่องให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เปรียบเสมือนเทพารักษ์ไทยที่มีหน้าที่ดูแลรักษาท้องถิ่น ต่อมาเมื่อผู้ศรัทธาชาวจีนแต้จิ๋วที่มีความเคารพนับถือเจ้าพ่อเขาตกและเจ้าพ่อหมื่นรามได้มาอาศัยอยู่ที่จังหวัดตรัง ได้นำความเชื่อนี้มาเผยแพร่ จนกลุ่มผู้ศรัทธาชาวจีนในจังหวัดตรังได้ร่วมใจกันสร้างศาลเจ้าพ่อหมื่นราม และมีการเรียกเจ้าพ่อหมื่นรามเป็นภาษาจีนแต้จิ๋วว่า “ซำฮวกซือ”(三法师)จากการศึกษาพบว่า “ซำฮวกซือ” เป็นชื่อเทพเจ้าที่ชาวจีนจังหวัดตรังให้การเคารพกราบไหว้บูชา ซึ่งความเชื่อเกี่ยวกับ “ซำฮวกซือ” นี้ปรากฏเป็นความเชื่อของชาวจีนทั้งในพื้นที่อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฏร์ธานี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา และอำเภอเมือง จังหวัดตรัง ซึ่งความเชื่อดังกล่าวมีที่มาจากตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับการร่วมสาบานเป็นพี่น้องจากเจ้าพ่อ 3 องค์ คือ ตั่วฮวกซือ(大法师)หรือเจ้าพ่อเขาใหญ่ หยี่ฮวกซือ(二法师)หรือเจ้าพ่อเขาตก และซำฮวกซือ หรือเจ้าพ่อหมื่นราม อันมีมูลเหตุการเชื่อมโยงมาจากประวัติต้นกำเนิดของเทพเจ้าซำซัวก๊กอ๊วง(三山国王)ในพื้นที่อำเภอเจียซี(揭西)มณฑลกวางตุ้ง(广东)ประเทศจีน ทำให้เจ้าพ่อหมื่นรามได้รับการเคารพบูชาแบบไทยผสมจีนจากกลุ่มผู้ศรัทธาชาวจีนในสังคมไทยตราบจนทุกวันนี้
      360  2343
  • Publication
    การคัดเลือกเพลงสำหรับสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติ
    (University of the Thai Chamber of Commerce, 2022)
    การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิธีการคัดเลือกประเภทของเพลงสำหรับสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาคือ ผู้สอนภาษาไทยให้แก่ผู้เรียนชาวต่างชาติที่เรียนภาษาไทยเป็นวิชาเอก และไม่ได้เรียนเป็นวิชาเอกภาษาไทย ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 18 คน ได้แก่ ผู้สอนมหาวิทยาลัยรัฐบาล มหาวิทยาลัยเอกชน สถาบันการศึกษาการสอนภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติ และหน่วยงานอื่นๆ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ แบบสอบถามเรื่อง วิธีการคัดเลือกเพลงสำหรับผู้เรียนชาวต่างชาติ ผลการวิจัยพบว่าผู้สอนมีวิธีการคัดเลือกเพลงในการสอน สรุปได้ดังนี้ 1. ผู้สอนส่วนใหญ่มีวิธีคัดเลือกเพลงไปในทิศทางเดียวกันในประเด็นคำถาม 8 ข้อ ได้แก่ คัดเลือกเพลงที่นักร้องออกเสียงชัดเจน คัดเลือกเพลงตามระดับความรู้ของผู้เรียน คัดเลือกเพลงที่มีชื่อเสียงหรือได้รับความนิยม คัดเลือกตามความสนใจและตามวัยของผู้เรียน คัดเลือกเพลงที่มีความสัมพันธ์กับบทเรียน คัดเลือกเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมไทย ประเภทของเพลงที่คัดเลือกมาสอน และข้อดีในการคัดเลือกเพลงประกอบการสอนในบทเรียน 2. ผู้สอนมีหลักการคัดเลือกเพลงหลากหลายวิธีในประเด็นคำถาม 3 ข้อ ได้แก่ หลักในการคัดเลือกเพลงที่ง่ายต่อการเรียนรู้ภาษาที่ 2 วิธีการคัดเลือกเพลงที่ช่วยให้ผู้เรียนได้เกิดการถ่ายโยงการเรียนรู้จากภาษาแม่มาสู่ภาษาที่ 2 และหลักการคัดเลือกลักษณะเนื้อหาและการใช้ภาษาในบทเพลง การออกเสียงที่ชัดเจนของนักร้องมีผลต่อการคัดเลือกเพลงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้เรียนในระดับต้น ผู้สอนจะให้ความสำคัญกับเสียงร้องที่ชัดเจนมากที่สุด เพราะส่งผลดีต่อการออกเสียงของผู้เรียน หากผู้เรียนอยู่ในระดับสูงผู้สอนจะเลือกเพลงที่มีเนื้อหาและการใช้ภาษาที่เหมาะสมกับระดับการเรียนรู้ภาษาของผู้เรียน ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ภาษาไทยตามสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ส่วนทำนองเพลงที่คุ้นหูหรือคำศัพท์ที่ผู้เรียนได้เคยฟัง และเคยเรียนแล้ว จะทำให้ผู้เรียนจดจำคำศัพท์และเข้าใจสำนวนภาษาได้ง่ายด้วย เพลงที่ผู้สอนยกตัวอย่างมาประกอบการเรียนการสอนมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ เพลงช้าง เพลงรำวงวันลอยกระทง และเพลงพรปีใหม่ เพลงทั้ง 3 เพลงนี้เป็นเพลงที่แสดงอัตลักษณ์ประจำชาติ แสดงวัฒนธรรมที่ดีงาม และแสดงความเป็นไทย ตลอดทั้งมีการใช้ภาษาที่ไพเราะงดงาม
      90  361
  • Publication
    การศึกษาวิเคราะห์ภววิทยาของความสุขและสุขภาวะที่ดีในมโนทัศน์ทางปรัชญาว่าด้วยโคฟุกุ ของ นิชิดะ คิตะโร
    งานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความสุขและสุขภาวะที่ดีด้วยวิธีการทางสถิติเพียงอย่างเดียวในกรณีของประเทศญี่ปุ่นทำให้พบว่า สำนึกเชิงอัตวิสัยด้านความสุขไม่สัมพันธ์ตัวบ่งชี้เชิงภววิสัยของสุขภาวะที่ดี ข้อค้นพบที่สวนทางกันเช่นนี้ทำให้การศึกษาเกี่ยวกับความสุขหรือสุขภาวะที่ดีในแบบญี่ปุ่นได้หวนกลับไปสู่ท่าทีเชิงภววิทยา ที่ให้ความสำคัญกับการเข้าใจธรรมชาติของชีวิตซึ่งดำรงอยู่ในโลก ณ ตรงนี้/เวลานี้ โดยการวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาวิเคราะห์เอกสารปฐมภูมิของนิชิดะ คิตะโร ผ่านการพินิจพิเคราะห์มโนทัศน์โคฟุกุในกระบวนทัศน์ทางปรัชญาของเขา ซึ่งได้ข้อสรุปจากการสืบสอบดังต่อไปนี้ ประการที่ 1) โคฟุกุในแง่ของความมีอยู่จริง คือ ทุกข์สุขแห่งเอกภาพของชีวิต ส่วนประการที่ 2) โคฟุกุในแง่ของความดี คือ ความปรารถนาที่มีต่ออุดมคติของสภาวะอันดี และประการสุดท้าย 3) โคฟุกุในแง่ของศาสนา คือ การสำแดงให้เห็นถึงประสบการณ์ทางศาสนาที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต อีกทั้งข้อค้นพบของการวิจัยครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นว่า ความสุขและสุขภาวะที่ดีในทัศนะทางภววิทยาแบบญี่ปุ่นของนิชิดะ คิตะโร จะมุ่งให้ความสำคัญต่อการทำความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติการณ์ของสัตและกัมมันตภาวะของโลกที่ชีวิตดำรงอยู่ ซึ่งมีส่วนช่วยให้เกิดความเข้าใจถึงภววิทยาของสุขภาพจิต สุขภาพกาย และสังคมที่ดีในมุมองของปรัชญาญี่ปุ่นได้
      129  351
  • Publication
    ผ้าหมักโคลน : จากภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่แบรนด์ระดับชาติและนานาชาติ : รายงานการวิจัย
    (University of the Thai Chamber of Commerce, 2021)
    การศึกษาเรื่อง ผ้าหมักโคลน: จากภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่แบรนด์ระดับชาติและนานาชาติ มีวัตถุประสงค์ 2 ประการคือ เพื่อศึกษาภูมิปัญญาในกระบวนการผลิตผ้าหมักโคลนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันของชุมชนจังหวัดมุกดาหารและจังหวัดระยอง และเพื่อศึกษาพัฒนาการกระบวนการผลิตผ้าหมักโคลนของแต่ละชุมชนที่ได้นำภูมิปัญญาไปพัฒนาต่อยอดจนนำไปสู่สินค้าระดับชาติและนานาชาติ การศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัยได้กำหนดขอบเขตการศึกษาผ้าหมักโคลนที่อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร และ อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง โดยศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลที่ว่าด้วยเรื่องภูมิปัญญาเพื่อชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในกระบวนการผลิตผ้าหมักโคลน ที่มีการนำภูมิปัญญามาพัฒนาต่อยอดจนไปสู่การเป็นสินค้าระดับชาติและนานาชาติ ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. ผ้าหมักโคลนหนองสูง อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร 1.1. ด้านภูมิปัญญา ผ้าหมักโคลนหนองสูงเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ด้านภูมิปัญญา 3 ด้าน คือ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาด้านการประกอบอาชีพ และภูมิปัญญาสร้างสรรค์ โดยเป็นการผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาท้องถิ่นกับองค์ความรู้ใหม่ ทั้งนี้เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ผ้าหมักโคลนหนองสูงจึงมีอัตลักษณ์ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นที่โดดเด่น ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสินค้าโอทอป และเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของอำเภอหนองสูง ส่งผลให้ชุมชนมีอาชีพเสริมและสามารถพึ่งพาตนเองได้ นับว่าเป็นการสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชน 1.2. ด้านพัฒนากระบวนการผลิต ผ้าหมักโคลนหนองสูงมีกระบวนการพัฒนาด้านการผลิต 3 ด้าน คือ ด้านการผลิต ด้านผู้ผลิต และด้านการจำหน่าย ผู้ผลิตได้นำองค์ความรู้ใหม่มาพัฒนากระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไป รวมทั้งได้นำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการและเพิ่มช่องทางการจำหน่ายในรูปแบบออนไลน์ จึงทำให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้มากขึ้น ส่งผลให้ชุมชนมีอาชีพเสริมและสามารถพึ่งพาตนเองได้ นับว่าเป็นการสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชน 2. ผ้าหมักโคลนทะเล อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง 2.1 ด้านภูมิปัญญา ผ้าหมักโคลนทะเลเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ด้านภูมิปัญญา 3 ด้าน คือ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาด้านการประกอบอาชีพ และภูมิปัญญาสร้างสรรค์ โดยนำภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่มีอยู่ดั้งเดิมมาดัดแปลง เพื่อนำมาใช้กับทรัพยากรในท้องถิ่นทำให้เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ ส่งผลให้ผ้าหมักโคลนทะลมีความโดดเด่นด้านภูมิปัญญาสร้างสรรค์ที่นำทุนวัฒนธรรมมาพัฒนาต่อยอด ทำให้ได้รับคัดเลือกเป็นสินค้าโอทอป และเครื่องหมายผลิตภัณฑ์ 4DNA อำเภอบ้านฉาง 2.2 ด้านพัฒนากระบวนการผลิต ผ้าหมักโคลนทะเลมีกระบวนการพัฒนาด้านการผลิต 3 ด้าน คือ ด้านการผลิต ด้านผู้ผลิต และด้านการจำหน่าย ผ้าหมักโคลนทะเล แบรนด์ลีลาฝ้าย เป็นผู้ผลิตรายแรกและรายเดียวในภูมิภาคตะวันออก โดยนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาพัฒนา ต่อยอดกระบวนการผลิตเพื่อให้ผ้าหมักโคลนทะเลมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นแตกต่างไปจากผ้าหมักโคลนในภูมิภาคอื่น จนมีโอกาสไปร่วมแสดงสินค้าหลายประเทศ และทำให้มียอดการสั่งซื้อต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการจ้างงานในชุมชน สร้างอาชีพ รายได้ และความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนเป็นอย่างมาก
      281  589