CA: Research Reports

Permanent URI for this collection

Browse

Recent Submissions

Now showing 1 - 5 of 16
  • Publication
    พฤติกรรมการบริโภคและบทบาทของการสื่อสารการตลาดที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายและการท่องเที่ยวของกลุ่มผู้บริโภคสูงอายุ = Consumption behavior and the role of marketing communications that influences decision making of older consumers toward goods and services relate to exercise and travel
    การวิจัยเรื่อง “พฤติกรรมการบริโภคและบทบาทของการสื่อสารการตลาดที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายและการท่องเที่ยวของกลุ่มผู้บริโภคสูงอายุ” เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการบริโภคสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายและการท่องเที่ยวของกลุ่มผู้บริโภคสูงอายุ รวมถึงบทบาทของการสื่อสารการตลาดที่ส่งผลต่อการตัดสินใจใช้สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายและการท่องเที่ยวของกลุ่มผู้บริโภคสูงอายุ การวิจัยนี้ใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกในการเก็บข้อมูลจากผู้ให้ข้อมูลหลักจำนวน 20 คนที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เป็นผู้ทึ่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครที่มีการออกกำลังกายเป็นกิจวัตร และมีการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศหรือต่างประเทศอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ผลการวิจัยพบว่า ผู้สูงอายุตระหนักว่า การออกกำลังกายและการท่องเที่ยวเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ โดยส่งผลดีต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ จึงได้มีการออกกำลังกายเป็นประจำและหาโอกาสในการเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อน โดยสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับการออกกำลังกายนั้น ผู้สูงอายุมักจะตัดสินใจซื้อด้วยตนเองและซื้อตามความจำเป็นโดยไม่ได้หาข้อมูลล่วงหน้า ในขณะที่ถ้าเป็นสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ผู้สูงอายุมักไม่ได้ตัดสินใจเอง เนื่องจากการท่องเที่ยวในปัจจุบันเป็นการท่องเที่ยวกับครอบครัวเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ผู้สูงอายุยังคงมีบทบาทเป็นผู้มีอิทธิพลที่คอยให้คำแนะนำและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ โดยในการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการเหล่านี้ ผู้สูงอายุได้รับอิทธิพลจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางจิตวิทยา ปัจจัยเฉพาะบุคคล หรือปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรม ในส่วนของบทบาทของการสื่อสารการตลาดที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคสูงอายุนั้นพบว่า การสื่อสารการตลาดมีบทบาทครบทั้ง 5 ประการ ได้แก่ การให้ข้อมูล การเชิญชวน การย้ำเตือน การชี้ให้เห็นความแตกต่าง และการสร้างภาพลักษณ์ให้แก่บริษัท อย่างไรก็ตาม บทบาทเหล่านี้มีอิทธิพลต่อผู้บริโภคสูงอายุมากน้อยต่างกันไปโดยขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้าและบริการ ตัวผู้บริโภคเองที่ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกที่ส่งผลให้พฤติกรรมการซื้อของแต่ละคน มีรูปแบบที่แตกต่างกัน รวมถึงเครื่องมือสื่อสารการตลาดแต่ละประเภทที่นักการตลาดเลือกใช้ก็มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคสูงอายุแตกต่างกันออกไป
      58  390
  • Publication
    การรู้เท่าทันสื่อสังคมออนไลน์ของผู้สูงอายุในเขตกรุงเทพฯ
    งานวิจัยเรื่องการรู้เท่าทันสื่อสังคมออนไลน์ของผู้สูงอายุในเขตกรุงเทพฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการรู้เท่าทันสื่อสังคมออนไลน์ การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยการสัมภาษณ์ผู้สูงอายุ จํานวน 20 คน ผลการวิจัยพบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ใช้สื่อสังคมออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชันไลน์ มากที่สุด รองลงมาคือ เฟซบุ๊ก โดยใช้เพื่อติดต่อรักษาความสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ และญาติ ๆ เป็นหลัก รองลงมาคือการติดตามข่าวสารต่าง ๆ จากการวิจัยพบว่า ผู้สูงอายุมีประสบการณ์โดยรวมในการใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นไปในทางที่ดีโดยใช้เพื่อผ่อนคลายเหงา นอกจากนี้ พบว่าผู้สูงอายุมีความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับการใช้สื่อสังคมออนไลน์ระดับพื้นฐานถึงปานกลาง โดยมีปัจจัยด้านการศึกษา อาชีพ ความสนใจส่วนตัว มีส่วนทําให้ระดับความรู้และความเข้าใจในสื่อสังคมออนไลน์ของผู้สูงวัยแตกต่างกันไปในแต่ละคน
      126  374
  • Publication
    กลยุทธ์การสื่อสารการตลาดเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันจากผลกระทบวิกฤต COVID-19 ผ่านมุมมองผู้บริหารระดับสูงของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่
    การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากลยุทธ์การสื่อสารการตลาดเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันจากผลกระทบวิกฤต COVID-19 ผ่านมุมมองผู้บริหารระดับสูงของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative research) เป็นแนวทางในการศึกษา เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (in-depth interview) และการค้นคว้าหลักฐานจากเอกสารต่าง ๆ (documentary research) สำหรับการนำเสนอผลวิจัยจะเรียงลำดับตามกลยุทธ์การสื่อสารการตลาด ทั้ง 5ขั้นตอน ประกอบด้วย การทบทวนแผนการตลาด การกำหนดวัตถุประสงค์การสื่อสารการตลาด การกำหนดเครื่องมือสื่อสารการตลาด การกำหนดงบประมาณและระยะเวลา และการประเมินผล ผลวิจัย พบว่า ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่มีการทบทวนแผนการตลาด (review of the marketing plan) ด้วยมุมมองที่ต่างไปจากเดิมเพื่อให้สอดรับกับวิกฤติ COVID-19 ที่อยู่บนความไม่แน่นอน ยากต่อการคาดเดา และไม่รู้จุดสิ้นสุดของปัญหา เมื่อวิเคราะห์สถานการณ์ (situation analysis) โดยใช้ “SWOT Analysis” พบว่า จุดแข็งหรือความได้เปรียบ (strengths) ของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ ประกอบด้วย 1) วิสัยทัศน์และความสามารถของผู้นำที่กล้าปรับตัวอย่างรวดเร็ว 2) การมีความพร้อมด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และฐานข้อมูลลูกค้าเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ 3) จำนวนสาขาที่ครอบคลุมและความแข็งแกร่งของสาขา 4) การพัฒนาช่องทางเชื่อมต่อโลกออฟไลน์และออนไลน์เข้าด้วยกันในรูปแบบ Omni-Channel 5) ความเชี่ยวชาญและความสามารถของบุคลากร สำหรับจุดอ่อน (weaknesses) ประกอบด้วย 1) สาขาจำนวนมากกลายเป็นภาระของธุรกิจ 2) ทักษะของพนักงานไม่เอื้อต่อการปรับตัวอย่างกะทันหัน 3) ระบบบริหารจัดการร้านค้าปลีกยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ 4) ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายกลุ่ม อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ ผ่านโอกาส (opportunities) ต่อไปนี้ 1) ประชาชนส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตและทำงานที่บ้านอย่างต่อเนื่อง 2) ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเร่งให้เกิดการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อเอาชนะข้อจำกัด 3) กระแสสังคมสร้างความนิยมให้กับผลิตภัณฑ์ 4) การจับมือเป็นพันธมิตรและการสร้างความร่วมมือทางธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น ส่วนอุปสรรค (threats) ต่อการดำเนินงาน ประกอบด้วย 1) ความไม่แน่นอน คาดการณ์ไม่ได้ เกิดขึ้นแบบฉับพลันของสถานการณ์ COVID-19 2) ผู้บริโภคใช้จ่ายอย่างระมัดระวังและกำลังซื้อลดลง 3) คู่แข่งเพิ่มสูงขึ้น 4) มาตรการกระตุ้นและพื้นฟูเศรษฐกิจของภาครัฐ 5) การบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ทั้งนี้การทบทวนแผนการตลาดยังครอบคลุมถึงการกำหนดวัตถุประสงค์การตลาดที่ชัดเจน (specific marketing objectives) โดยพบว่าวิกฤต COVID-19 ทำให้ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่กำหนดวัตถุประสงค์การตลาดมุ่งเน้นเรื่องยอดขาย (sales) และกำไร (profit) เป็นหลัก ส่วนการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย (target market) หรือ “ลูกค้าที่ใช่” (core customer) จะวิเคราะห์ผ่าน “STP Process” ครอบคลุมถึงการกำหนดกลยุทธ์การตลาด marketing strategy) ที่พยายามใช้ผลิตภัณฑ์ ราคา ช่องทางจัดจำหน่าย และการส่งเสริมการตลาด เพี่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน ขั้นตอนที่สอง การกำหนดวัตถุประสงค์การสื่อสารการตลาด (determining objective) พบว่า มีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การตลาดที่มุ่งเรื่องยอดขายและกำไรเป็นสำคัญ เริ่มต้นจากเพื่อสร้างการรับรู้(awareness) และสิ้นสุดตรงเพื่อทำให้เกิดการตัดสินใจซื้อ (action) ส่วนการกำหนดเครื่องมือสื่อสารการตลาด (marketing communication tools) ในขั้นตอนที่สามนั้น ทำให้ทราบว่าแผนสื่อสารการตลาดที่เคยวางไว้ล่วงหน้าถูกรื้อใหม่ทั้งหมด โดยมีการปรับแผนให้ยืดหยุ่นและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เรียกสั้น ๆ ว่า “Covid Plan” และธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการสื่อสารการตลาดแบบบูรณาการ ( IMC) ที่ผสมผสานเครื่องมือแต่ละประเภทเข้าด้วยกัน ในขั้นตอนถัดมา การกำหนดงบประมาณและระยะเวลา (determining budgets and timing) พบว่า ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่กำหนดงบประมาณด้านการสื่อสารการตลาดไว้ 2 รูปแบบ คือ งบประมาณจากบนลงล่าง (top-down approach) และงบประมาณจากล่างสู่บน (bottom-up approach) ขึ้นอยู่กับโครงสร้าง นโยบาย และวัฒนธรรมการทำงานของแต่ละองค์กร ตลอดจน ปรับระยะเวลาการดำเนินงานของทุกแผนให้สั้นลงเพื่อให้ง่ายต่อการติดตามและประเมินผล สำหรับการประเมินผล (evaluation) ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย พบว่า ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่จะประเมินความสำเร็จของแผนสื่อสารการตลาดในภาพรวม (overall evaluation) โดยพิจารณาจากยอดขายและกำไรเป็นหลัก ส่วนการประเมินผลแต่ละเครื่องมือสื่อสารการตลาด (task evaluation) พบว่า เครื่องมือแต่ละประเภทมีเกณฑ์ในการประเมินผลแตกต่างกัน ส่วนใหญ่จะครอบคลุม 3 เรื่อง คือ การรับรู้(awareness) ความผูกผัน (engagement) และยอดขาย (sales) สำหรับปัจจัยแห่งความสำเร็จที่ซ่อนอยู่ภายใต้กลยุทธ์การสื่อสารการตลาดเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันจากผลกระทบวิกฤต COVID-19 ประกอบด้วย 1. วิสัยทัศน์ของผู้นำ 2. ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่มีความพร้อมด้านเงินทุน เทคโนโลยี นวัตกรรม บุคลากร และฐานข้อมูลลูกค้า 3. การดำเนินกลยุทธ์การตลาดที่ยึดหลักแนวคิด “ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง” (customer centric) 4. การนำข้อมูลเชิงลึกของลูกค้า (customer insight) มาใช้ประโยชน์ในการบริหารความสัมพันธ์ เพื่อมอบประสบการณ์เชิงบวกแบบไร้รอยต่อ (seamless experience) 5. การใช้เครื่องมือการประชาสัมพันธ์ผ่านการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) หรือการสร้างสรรค์คุณค่าร่วม (CSV) ควบคู่กับเครื่องมือการส่งเสริมการขาย 6. การสร้างสรรค์เนื้อหาสารหรือคอนเทนต์ที่เล่นกับอารมณ์และความรู้สึกของลูกค้า (emotional marketing) จากวิกฤต COVID-19 7. กลยุทธ์การสื่อสารการตลาดที่กระชับ สามารถปรับตามสถานการณ์หรือพฤติกรรมผู้บริโภคในขณะนั้นได้ทันที
      103  561
  • Publication
    กลยุทธ์การรักษาภาพลักษณ์ของแบรนด์องค์กรต่อการสื่อสารในภาวะวิกฤต : กรณีข่าวลวงผ่านสื่อออนไลน์ = Brand image strategy in crisis communication : fake news via online media
    งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยแบบผสมผสานทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์การวิจัย คือ 1) เพื่อศึกษาและวิเคราะห์รูปแบบและวิธีการลวงที่เกิดขึ้นกับแบรนด์องค์กรผ่านสื่อออนไลน์ 2) เพื่อศึกษาผลกระทบของแบรนด์องค์กรจากการเผยแพร่ข่าวลวงผ่านสื่อออนไลน์ 3) เพื่อศึกษากลยุทธ์การกำหนดภาพลักษณ์ของแบรนด์องค์กรในกรณีข่าวลวงผ่านสื่อออนไลน์ และ 4) เพื่อเสนอแนะแนวทางการเตรียมพร้อมรับมือของแบรนด์องค์กรกับภัยคุกคามจากสื่อออนไลน์กรณีข่าวลวง ด้วยวิธีการวิเคราะห์เนื้อหาและการสัมภาษณ์เชิงลึก ผลการศึกษาพบว่าจำนวนประเด็นข่าวลวงที่นำเสนอผ่านสื่อออนไลน์ มากที่สุด คือข่าวกลุ่มภัยพิบัติ และใช้วิธีการลวงด้วยการเผยแพร่/แชร์/โพสต์คำเตือนที่เป็นเท็จ รวมถึงการวนซ้ำข่าวเก่า/ข่าวลือ/กลโกง มากที่สุด สำหรับวิธีการแจ้งเตือนข้อมูลข่าวลวงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มากที่สุด คือการขึ้นต้นด้วยข้อความพาดหัวข่าวด้วยคำว่า “ข่าวปลอม! ข่าวบิดเบือน!อย่าแชร์! และผลกระทบจากการเผยแพร่ข่าวลวงผ่านสื่อออนไลน์ มากที่สุด คือทำให้เกิดความสับสนและตื่นตระหนก
      90  353
  • Publication
    การรับรู้การสื่อสารการตลาดต่อรูปแบบการดำเนินชีวิตและความตั้งใจเลือกสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ตามมุมมองของเจเนอเรชันซีในเขตกรุงเทพมหานคร
    การศึกษาเรื่อง “การรับรู้การสื่อสารการตลาดต่อรูปแบบการดำเนินชีวิตและความตั้งใจเลือกสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ตามมุมมองของเจเนอเรชันซี ในเขตกรุงเทพมหานคร” มีวัตถุประสงค์ 2 ข้อ เพื่อศึกษา 1) การรับรู้การสื่อสารการตลาดต่อรูปแบบการดำเนินชีวิตตามมุมมองของเจเนอเรชันซีในเขตกรุงเทพมหานคร และ 2) การรับรู้การสื่อสารการตลาดต่อความตั้งใจเลือกสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาตามมุมมองของเจเนอเรชันซีในเขตกรุงเทพมหานคร การวิจัยนี้เป็นวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก ผู้ให้ข้อมูลหลักซึ่งเป็นเจเนอเรชันซีซึ่งเป็นนักเรียนมัธยมปลาย อายุระหว่าง 15-18 ปี จำนวน 20 คน ผลการศึกษาพบว่า เจเนอเรชันซีเปิดรับสื่อโซเชียลมีเดียหลายประเภทในชีวิตประจำ แต่มีการรับรู้การสื่อสารการตลาดผ่านเครื่องมือการโฆษณาออนไลน์ค่อนข้างน้อย แต่มีรับรู้การสื่อสารการตลาดผ่านการรีวิวโดยผู้ใช้จริง และผ่านอินฟลูเอนเซอร์ ทั้งที่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง และผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ ในส่วนการรับรู้การสื่อสารการตลาดต่อความตั้งใจเลือกสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาตามมุมมองของเจเนอเรชันซีในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่า เจเนอเรชันซีตระหนักดีว่ามหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทำการสื่อสารการตลาดเพื่อสร้างการรับรู้และเชิญชวนให้พวกเขาสมัครเรียน เจเนอเรชันซี มีบทบาทเชิงรุกในการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสาขาการเรียนและสถาบันการศึกษาที่ตนเองสนใจ จึงมักเริ่มต้นด้วยการค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต และรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบการดำเนินชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ของนักศึกษาจากอินฟลูเอนเซอร์ที่พวกเขาติดตาม เช่น รุ่นพี่โรงเรียนที่ปัจจุบันเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย หรืออินฟลูเอนเซอร์ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษา
      53  444